Menu
คะแนน
วิธีอ่านฉลากโภชนการ

ร้านอาหารที่เน้นความยั่งยืน รักษ์โลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคที่กำลังการเข้าใจวิธีอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนเมนูที่มีสัดส่วนสารอาหารต่างๆอย่างเหมาะสม รังสรรค์เมนูอาหารที่มีคุณภาพ ส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคได้  รวมถึงสามารถวางแผนการใช้งานวัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณขยะอาหาร และปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้อีกด้วย

การอ่านฉลากอาหารอย่างถูกต้องไม่ใช่เรื่องยาก ยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์ ชวนทุกคนมาเรียนรู้วิธีอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการที่ถูกต้อง เพื่อการปรุงอาหารอย่างใส่ใจต่อผู้บริโภค  เพิ่มคุณภาพอาหาร และลดขยะอาหารเพื่อความยั่งยืนกัน

1. ingredients

1. พลิกฉลากอาหารดูส่วนประกอบที่สำคัญและข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร

การพลิกฉลากอาหารดูส่วนประกอบที่สำคัญก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราสามารถเลือกวัตถุดิบคุณภาพมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น เราสามารถแยกความต่างระหว่างน้ำปลาแท้และน้ำปลาผสมได้โดยการดูส่วนประกอบที่สำคัญ เพราะน้ำปลาผสมมักจะใช้น้ำและสารมอโนโซเดียมแอล-กลูทาเมต  หรือการเลือกใช้ผงมะนาว ผงมะนาวแท้ จะมีส่วนผสมจากมะนาวแท้ ระบุอยู่ในส่วนประกอบที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีระบุอยู่บนฉลากทั้งหมด

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องแพ้อาหารชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันผู้ผลิตก็ได้มีการระบุอาหารก่อภูมิแพ้บนฉลากอาหารด้วยเช่นกัน เช่น อาหารประเภทที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในคนหมู่มาก เช่น ไข่ นม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง หรือสัตว์น้ำมีเปลือก เช่น กุ้ง ปู ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งเราสามารถศึกษาฉลากก่อนเลือกนำผลิตภัณฑ์มาประกอบอาหาร อาจหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่มีแนวโน้มจะก่ออาการแพ้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของเรา

2. Symbols

2. พลิกฉลากอาหารดูสัญลักษณ์หรือตรามาตรฐานต่าง ๆ

สัญลักษณ์มาตรฐานที่มีแพร่หลายนั้น ได้แก่ ตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  สัญลักษณ์ที่ได้รับการรับรองมาตราฐานฮาลาล และสัญลักษณ์อาหารเจ ซึ่งหมายถึงว่าสินค้านั้นปลอดภัยมีคุณภาพตามมาตรฐาน ผู้ประกอบการควรสังเกตสัญลักษณ์เหล่านี้สำหรับการปรุงอาหารในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในเทศกาลกินเจ หรือการปรุงอาหารฮาลาล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ

นอกจากนี้สัญลักษณ์อีกประเภทที่ควรมองหา คือสัญลักษณ์รีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าสินค้าที่เราเลือกนั้น สามารถนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ สัญลักษณ์รีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ สัญลักษณ์นำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล และกำจัดทิ้ง มองหาสัญลักษณ์รีไซเคิล และเลือกจัดการให้ถูกวิธี ช่วยโลกได้อย่างยั่งยืน เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญลักษณ์รีไซเคิลชนิดต่าง ๆ ได้ที่บทความ

Please recycle: ปณิธานความมุ่งมั่นของเราต่อบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

3. Expiry

3. พลิกฉลากอาหารดูวันที่ผลิตและวันที่ควรบริโภคก่อน

ทุกครั้งที่เลือกซื้อวัตถุดิบและวางแผนวัตถุดิบ ควรเลือกดูวันเดือนปีที่หมดอายุให้เหมาะสม หมดอายุเร็วเกินไปก็อาจใช้ไม่ทันจนต้องเหลือทิ้งได้ โดยวันเดือนปีที่หมดอายุมีสองประเภท ได้แก่

  • EXP ย่อมาจากคำว่า Expire หรือ หมดอายุ หมายความว่าหลังวันที่นั้นไม่ควรนำอาหารนั้นมาบริโภคแล้ว
  • BBE ย่อมาจากคำว่า Best Before หรือ ควรบริโภคก่อน ซึ่งหมายความว่า ควรบริโภคก่อนวันดังกล่าว หากเลยวันนี้

ไปจะยังรับประทานได้ แต่กลิ่น เนื้อสัมผัส หรือรสชาติอาจไม่ดีเท่าเดิม

ควรคำนึงถึงวันหมดอายุเหล่านี้เผื่อวางแผนการใช้วัตถุดิบและปรุงอาหารที่คุณภาพดีที่สุดให้ลูกค้า

4.FDA

4. พลิกฉลากอาหารเพื่อดูเลขสารบบอาหารหรือเครื่องหมายอย.

อีกหนึ่งข้อมูลบนฉลากอาหารที่เราควรใส่ใจนั้น ได้แก่ เลขสารบบอาหาร หรือเครื่องหมายอย. เพราะเครื่องหมายอย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลักในกรอบเครื่องหมายนั้นคือเครื่องยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังจะเลือกไปประกอบอาหารนั้นปลอดภัย ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพผ่านเกณฑ์การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้เลขสารบบอาหารยังเป็นเลขที่สื่อถึงข้อมูล จังหวัดและสถานที่ผลิต รวมถึงปีและเลขลำดับของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุญาต จึงสามารถนำไปตรวจสอบว่าเป็นเลขจริงหรือปลอมได้ และติดตามแหล่งที่มาได้หากผลิตภัณฑ์มีปัญหา ควรตรวจสอบทุกครั้งที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

5. Storage

5. พลิกฉลากอาหารหาวิธีเก็บรักษาและข้อควรระวัง (ถ้ามี)

บนฉลากอาหารบางชนิดที่ต้องอาศัยวิธีเก็บที่เฉพาะเจาะจงนั้นจะมีวิธีเก็บรักษาและข้อควรระวังเขียนอยู่บนฉลาก ควรเก็บรักษาตามคำแนะนำ เพื่อช่วยยืดอายุอาหารได้มากขึ้น ลดจำนวนปริมาณขยะอาหารเหลือทิ้ง

6.nutrition

6. อ่านฉลากโภชนาการ

6.1 อ่านฉลากโภชนาการ ส่วนที่ 1 ดูปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และจำนวนหน่วยบริโภคต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์

ด้านบนสุดของฉลากโภชนาการ จะบอก “หนึ่งหน่วยบริโภค” หมายถึง ปริมาณที่ควรบริโภคต่อครั้ง เช่น 1 ช้อน และ “จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ” หมายถึงว่า ทั้งภาชนะนี้สามารถบริโภคได้กี่ครั้ง เช่น 22 ก็หมายถึงแบ่งบริโภคได้ 22 ครั้ง ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนซื้อวัตถุดิบ กำหนดปริมาณต่อหนึ่งจานให้พอดีต่อหน่วย ทั้งดีต่อสุขภาพลูกค้าและช่วยลดต้นทุนจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง

6.2 อ่านฉลากโภชนาการ ส่วนที่ 2 ดูปริมาณพลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ในส่วนที่สองจะบอกปริมาณพลังงานหรือแคลอรีต่อหนึ่งหน่วยบริโภค โดยจะแบ่งเป็นพลังงานทั้งหมดและพลังงานจากไขมัน เช่น พลังงานทั้งหมด 110 กิโลแคลอรี และเป็นพลังงานจากไขมัน 50 กิโลแคลอรี ส่วนนี้เหมาะสำหรับให้ผู้ประกอบการใช้กำหนดปริมาณแคลอรีในจานอาหาร สร้างเมนูอาหารที่มีไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

6.3 อ่านฉลากโภชนาการ ส่วนที่ 3 ดูคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันของสารอาหารต่างๆ

ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จำแนกย่อยปริมาณพลังงานและสารอาหารที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตามร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน กล่าวคือ ถ้าบริโภคหนึ่งหน่วยบริโภคจะได้สารอาหารและพลังงานต่าง ๆ เช่น ไขมัน โคเลสเตอรอล โปรตีนคาร์โบไฮเดรต โซเดียม เป็นปริมาณเท่าไร และวิตามินชนิดต่าง ๆ แคลเซียม และโพแทสเซียม จะแสดงเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันของแต่ละสารอาหาร เช่น โซเดียม ควรได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยผลิตภัณฑ์หนึ่งหน่วยบริโภคมีโซเดียม 80 มิลลิกรัม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน

6.4 อ่านฉลากโภชนาการ ส่วนที่ 4 ดู Thai Recommended Daily Intakes (Thai RDI) ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

ส่วนนี้คือส่วนที่เรียกว่า Thai RDI เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ส่วนนี้จะคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี จำแนกเป็นความต้องการสารอาหารต่าง ๆ เช่น ไขมัน ไม่ควรเกิน 65 กรัมต่อวัน

ส่วนนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับส่วนที่ 3 เพื่อดูว่าในการบริโภคหนึ่งหน่วย เราได้รับสารอาหารเหล่านี้ไปเท่าไร เช่น หนึ่งหน่วยได้รับโคเลสเตอรอล 60 มิลลิกรัม เราบริโภคไป 5 หน่วย ได้รับโคเลสเตอรอลทั้งหมด 300 มิลลิกรัม เมื่อนำมาเทียบกับข้อมูล Thai RDI พบว่าปริมาณโคเลสเตอรอลที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 300 มิลลิกรัม เท่ากับว่าเราได้รับโคเลสเตอรอลเพียงพอตามปริมาณที่แนะนำแล้ว ดังนั้นควรระมัดระวังการบริโภคโคเลสเตอรอลเกินในมื้อถัดไป เพราะหากได้รับโคเลสเตอรอลมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

เคล็ดลับ เมื่อเข้าใจการอ่านฉลากโภชนาการแล้ว ก็จะสามารถเลือก หรือกำหนดปริมาณวัตถุดิบให้เหมาะสมในแต่ละเมนู ให้มีรสชาติที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นด้วย

การอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการเพื่อสร้างสรรค์เมนูคุณภาพ และการอ่านฉลากอาหารเพื่อใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างเราทำได้เพื่อสร้างสังคมที่ผู้บริโภคมีสุขภาพดีและปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน มาร่วมแรงร่วมใจไปพร้อมกับยูนิลีเวอร์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์

วันที่เผยแพร่บทความ 17 พฤศจิกายน 2565

หน้าหลัก
เมนู
สั่งสินค้า
รถเข็น
เมนูอาหาร