Menu
คะแนน

ขยะอาหาร (Food waste) ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะเป็นประเภทขยะอินทรีย์ที่สร้างความเน่าเหม็นในถังขยะ เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรค และยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวันตามจำนวนประชากร ดังนั้นหากร้านอาหารแยกขยะอาหารไม่ให้ปะปนกับขยะอื่น และมีวิธีจัดการที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดภาระแก่สังคมอันนำไปสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในวิธีง่ายๆ ที่ทุกร้านอาหารสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ

ขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าขยะประเภทนี้สร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน การลดปริมาณขยะอาหารจึงเป็นเป้าหมายระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50% เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต่อให้ร้านอาหารจะมีความพยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะลดขยะอาหารในระหว่างการซื้อวัตถุดิบและปรุงอาหาร อย่างเช่นการใช้วิธีการ zero waste cooking (zero waste cooking link) แต่สุดท้ายแล้วก็จะยังคงมีเศษขยะอาหารหลงเหลืออยู่ดี ดังนั้นเรามาเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอาหารอย่างถูกต้องกัน

วิธีง่ายๆ ในการจัดการขยะอาหารสำหรับร้านอาหาร หลังจากขั้นตอนการแยกขยะอาหารและอาหารเหลือออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับขยะที่ย่อยสลายยากแล้ว มีวิธีจัดการที่เหมาะสมอย่างไรบ้าง

1. นำผักไปปลูกใหม่

1. นำผักไปปลูกใหม่

ผักหลายชนิดเมื่อเราเด็ดใบกินแแล้ว ยังเหลือต้นและรากให้สามารถนำกลับไปปลูกใหม่ได้อีก เช่น โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ผักแพว เป็นต้น เป็นผักคู่ครัวที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารได้หลายเมนู หากร้านอาหารปลูกผักได้เอง ก็จะช่วยลดต้นทุนได้

วิธีปลูกง่ายๆ เตรียมกิ่งความยาวประมาณ 1 คืบ เด็ดใบออกให้เหลือนิดหน่อย ปักลงในดิน กดให้พอแน่น นำฟางมาคลุมไว้ด้านบน และรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพียง 5-7 วัน รากก็จะงอก และจะเจริญเติบโตให้สามารถเก็บไปทำอาหารได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

2. นำไปเลี้ยงสัตว์

2. นำไปเลี้ยงสัตว์

สำหรับร้านอาหารที่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างเช่น เป็ด ไก่ ปลา สามารถทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารสัตว์ด้วยการนำขยะอาหารอย่างพวกเศษผักผลไม้หรือเปลือกไข่บดละเอียดไปเลี้ยงเป็ด ไก่ ส่วนพวกเศษขนมปังก็นำไปเป็นอาหารปลาได้

3. นำไปทำปุ๋ย

3. นำไปทำปุ๋ย

 

นอกจากเศษผักหรือเปลือกไข่ เปลือกผลไม้ ก็ยังสามารถใช้พวกเศษก้างปลา กระดูกสัตว์ เศษข้าว ขนมปัง เศษหมูไก่ ฯลฯ คลุกกับเศษใบไม้แห้งและดินเพื่อช่วยดูดซับความชื้นของอาหาร จากนั้นหมักในภาชนะ ก็จะเกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยชั้นดี

4. นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ

4. นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ

4.1 สำหรับประโยชน์ด้านการเกษตร ให้ใช้น้ำซาวข้าวผสมกากน้ำตาลและจุลินทรีย์ หรือใช้เศษผัก/เปลือกผลไม้ 3 ส่วน ผสมกากน้ำตาล 1 ส่วน และน้ำ 10 ลิตร หมักทิ้งไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดเป็นเวลา 1 เดือน จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพนำไปเจือจางผสมกับน้ำ ใช้รดน้ำต้นไม้ หรือใส่ในกองปุ๋ยเพื่อเร่งการย่อยสลาย

4.2 สำหรับประโยชน์ด้านงานครัว ให้ใช้น้ำหมักที่ได้จากเปลือกผลไม้รสเปรี้ยวอย่างเช่น มะนาว ส้ม หรือสับปะรด ผสมกับน้ำขี้เถ้า เหมาะจะนำไปใช้เป็นน้ำยาล้างจานซึ่งช่วยลดคราบมัน (ปัจจุบันมีถังน้ำหมักชีวภาพสำเร็จรูปจำหน่ายเพื่อความสะดวก ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน)

5. ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อ

5. ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อ

5.1 กากชากาแฟ สามารถนำไปช่วยดูดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ในห้องครัว หรือแม้แต่การใช้กากกาแฟมาเช็ดคราบมันที่ภาชนะก่อนนำไปล้างตามขั้นตอนปกติ

5.2 เปลือกหอมหัวใหญ่ เมื่อสะสมไว้ปริมาณมากสามารถนำไปต้ม ทำน้ำย้อมผ้าโทนสีส้ม

5.3 น้ำซาวข้าว สามารถใช้ล้างสารพิษในผักผลไม้ได้อย่างดี นำไปล้างภาชนะ ช่วยลดคราบไขมัน คราบอาหาร หรือจะนำไปรดน้ำต้นไม้ก็ช่วยเพิ่มสารอาหารในดิน (ควรใช้น้ำซาวข้าวครั้งที่ 2 เนื่องจากน้ำที่ซาวครั้งแรกอาจมีสิ่งเจือปน)

6. นำไปทำเป็นพลังงานหมุนเวียน

6. นำไปทำเป็นพลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดพลังงานนั้นขึ้นมาเองได้ และยังหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก เป็นพลังงานสะอาดและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือพลังงานชีวภาพซึ่งได้จากขยะอาหาร ผัก ผลไม้ และใบไม้ โดยการนำมาหมักในบ่อหรือหมักระบบปิด เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ย่อยสลายขยะดังกล่าวในสภาวะไร้ออกซิเจน ได้เป็นก๊าซชีวภาพ ได้แก่ ก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและผลิตไฟฟ้า

7.     นำไปบริจาค

7. นำไปบริจาค

ปัจจุบันมี SOS องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีระบบขนส่งอาหารที่ได้มาตรฐาน และ สสปน. หน่วยงานของรัฐที่อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะอาหาร โดยมี LightBlue Environmental Consulting เป็นที่ปรึกษา เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกที่สนใจบริจาคอาหาร ไปยังองค์กร หรือชุมชนที่รับบริจาคอาหาร เช่น บ้านพักคนชรา บ้านเด็กกำพร้า

เราได้เห็นแล้วว่าเรื่องเล็กๆ ในจานข้าว สิ่งที่เราทานเหลือ รวมไปถึงวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการปรุงอาหารในครัว ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก เพราะอาหารมีเวลาในการเก็บรักษาสั้น และกลายมาเป็นขยะในทุกๆ วัน ดังนั้นหากเราช่วยกันลด แยกประเภท และจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อโลกอย่างยั่งยืน เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์ได้ที่: สร้างร้านอาหารรักษ์โลก

หน้าหลัก
เมนู
สั่งสินค้า
รถเข็น
เมนูอาหาร